มาไทยแน่นอน.. Cashless Society หรือ สังคมที่ไร้เงินสด เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ หลายประเทศและประเทศไทยของเราจะใช้เงินสดกันน้อยลง
เป็นกระแสไปทั่วโลก กับแนวคิดเรื่อง Cashless Society
คือ การใช้เงินสดกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบการชำระเงินดิจิทัล
ด้วยเทคโนโลยีของอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ Smartphone / Mobile Application
รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ของบริษัท FinTech ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้เกิดการทำธุรกรรมการชำระเงินแบบใหม่มากขึ้น
และยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นแรงกระตุ้นให้ความเป็นไปได้มากขึ้น คือ
1. จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น
2. โครงข่ายโทรคมนาคม เช่น 4G และ กระบวนการทำธุรกรรมทางด้านการเงินที่ดีและง่ายขึ้น
3. รัฐบาลพยายามผลักดันใช้ National e-payment หรือ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรารู้จักกันว่า PromptPay
จึงทำให้เชื่อได้ว่า โลกและประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งสังคมไร้เงินสด

มาทำความรู้จัก Cashless Society สังคมที่ปราศจากเงินสด
Cashless Society หรือ บางคนเรียกว่า Cashless Economy
เป็นแนวคิดสังคมที่ปราศจากเงินสด หรือสังคมที่ไม่นิยมถือเงินสด
เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยมองว่า ความสำคัญของเงินสดในอนาคตจะลดน้อยลง
และเงินสดจะถูกแทนที่ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน
จุดเริ่มต้นของ Cashless Society คือ ระบบบัตรเครดิต และบัตรเดบิต
การใช้จ่ายชำระค่าบริการในชีวิตประจำวันด้วยบัตร ถือเป็นการยุคแรก ๆ ของการทำธุรกรรมแทนการใช้เงินสด
ในต่างประเทศการทำธุรกรรมด้วยบัตร เป็นที่นิยมมาก ทั้งในเรื่องความสะดวกสบายและความปลอดภัย
บางประเทศมีการใช้บัตร มากกว่าการใช้เงินสดซะอีก
แต่ในประเทศไทยการใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิต ยังน้อยมาก
อาจเป็นเพราะการมีบัตร (โดยเฉพาะบัตรเครดิต) มีเงื่อนไข เช่น
ต้องมีงานประจำ และมีเงินเดือนอย่างน้อย 15,000 บาท
ทำให้คนไทย ไม่สามารถเข้าถึง และมีบัตรได้ไม่มากนัก
อีกทั้งคนไทยจำนวนมาก ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินสด
หรือพูดง่าย ๆ คือ คนไทยชอบใช้เงินสดนั่นเอง

ทำให้สัดส่วนการใช้เงินสดในไทยยังสูงอยู่มาก น่าจะประมาณ 80% (ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ VISA ประเทศไทย)
แต่เราก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ Smartphone
ที่มีการใช้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) กันมากขึ้น
เช่น การชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา / ค่าไฟ
หรือการชำระบิลต่าง ๆ เช่น บัตรเครดิต / ประกันภัย / ประกันชีวิต ค่าโทรศัพท์ / ค่าอินเตอร์เนต / ฯลฯ
และมีสถิติบ่งชี้ว่าในปีนี้ มีการใช้ e-Payment ในการซื้อขายสินค้าและบริการมากขึ้น
ซึ่งจะต่างกับต่างประเทศ เช่น ในประเทศสวีเดน ที่ผมเคยไปอยู่ที่นั่น
การใช้เงินสดที่นั่นน้อยมาก ร้านแทบจะทุกร้าน จะยินดีรับชำระด้วยบัตร
ขนาดซื้อโค้ก กระป๋องเดียว ก็รูดบัตรซื้อได้
ไม่เหมือนเมืองไทย ที่มียอดขั้นต่ำในการใช้บัตร
ซึ่งเข้าใจได้ว่าร้านค้าต้องแบกรับภาระในการธรรมเนียมที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าการทำธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินสด ยังใช้งานยาก
ก็อาจเป็นอุปสรรคที่คนไทยจะยังคงใช้เงินสดอยู่
ไหน ๆ พุดถึงประเทศสวีเดนแล้ว
ประเทศสวีเดน น่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ในโลก
ที่ประกาศเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายให้กลายเป็นเงินแบบดิจิทัลทั้งหมด
ขนาดส่งจดหมายเค้ายังคิดจะใช้ SMS ส่งไปรษณีย์แทนแสตมป์ เลย
และจะค่อย ๆ ลดการใช้เงินสดลง จนกระทั่งไม่มีการใช้อีกเลยภายในอีก 15 ปีข้างหน้า
ส่วนในประเทศจีน ตอนนี้มีผู้ใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ Alipay กว่า 270 ล้านราย
ซึ่ง Alipay เป็นของ Ant Financial บริษัทในเครือเดียวกับ Alibaba ของ Jack Ma นั่นเอง

ถ้าใครไป 7-11 ในไทย หรือร้านค้าตามสถานที่ท่องเที่ยว จะรับชำระเงินด้วย Alipay ด้วย
เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ให้ซื้อของในไทยมากขึ้น

เอาใจคนจีนสุด ๆ

Alipay ในจีน
สำหรับในประเทศไทย ตอนนี้ Cashless Society ก็เริ่มมีคนใช้มากขึ้น
เช่น มือถือบางยี่ห้อ มีการพัฒนาระบบชำระเงิน เช่น Samsung Pay
หรือ การที่รัฐบาลสนับสนุนให้ใช้ PromptPay เพื่อรับภาษีคืนเร็วขึ้น
การโอนเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
และ กระเป๋าเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Wallets)
เช่น True Wallet / mPay / LINE Pay เป็นต้น
ในปีนี้ธนาคารหลายธนาคารนอกจากลดปริมาณการเปิดสาขาใหม่แล้ว
ยังเริ่มมีการลดสาขา โดยการปิดสาขาแล้ว
และคาดว่าจะมีการลดสาขาลงเรื่อย ๆ
การใช้ Cashless Society และ e-Payment ในไทย เป็นสิ่งที่เป็นความท้าทาย
เพราะนั่นคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
ที่การชำระเงินค่าสินค้าและบริการในรูปแบบเดิมๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เช่น
– การใช้พร้อมเพย์ (PromptPay) จะทำให้เราโอนเงินให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
เพียงแค่บอกเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือ เลขที่บัตรประชาชนเท่านั้น
หรือการรับเงินคืนภาษี ก็รับได้ง่ายดาย
– การซื้อของออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ หรือ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ
และชำระผ่านบัตรเครดิต / ระบบ e-wallet
– การจองโรงแรมออนไลน์ เวลาจะไปเที่ยว
ก็สามารถจองตั๋วเครื่องบิน / จองโรงแรมออนไลน์
หรือถ้าจะดูหนัง ก็ตั๋วหนังออนไลน์ แล้วชำระผ่านบัตรเครดิต
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีหลายรายการที่เราไม่ต้องจับเงินสดเลย
ดังนั้นหากเราเริ่มหันมาใช้จ่าย และทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ มาใช้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น
ยิ่งการใช้งานแพร่หลายมากขึ้นเท่าไร
การบริการทางการเงินแบบไร้เงินสดก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย
แล้วมาดูกันว่า Cashless Society จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในไทยหรือไม่ ?