กระแสเรื่อง Service Charge ร้านอาหาร ต้องจ่ายหรือไม่จ่าย ?? เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา
ร้อยตรีไพโรจน์ คนึงทรัพย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง Service Charge ร้านอาหาร ในงานสัปดาห์ประกันภัย 2559 ไว้ว่า
ป้าย “Service Charge” ต้องชัดเจน ไม่ติด “ปฎิเสธ” ได้
รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า แม้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ได้พูดถึงเรื่อง “Service Charge” โดยตรง แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์ เรียกว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 โดยให้อำนาจคณะกรรมการออกประกาศ “เรื่องการต้องแสดงราคาสินค้าหรือบริการ”
พูดง่าย ๆ ก็คือ ร้านอาหารมีหน้าที่ต้องติดป้ายแสดงทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ราคา แต่หมายถึง “Service Charge” หรือ “VAT”ด้วย หากไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน ถือว่ามีความผิด ถ้าร้านไหนไม่ติดป้ายประกาศ Service Charge หรือมีแล้วไม่ชัดเจนจริง ผู้บริโภคมีสิทธิปฎิเสธได้เช่นกัน (ย้อนถามพนักงานเลย Service Charge 10% มาจากไหน แจ้งไว้ตรงไหน เขียนที่ไหน)
แต่ถ้าร้านไหนติดป้ายประกาศ Service Charge ชัดเจนแล้วผู้บริโภคกินต่อ ถือว่า “ยอมรับ” แบบนี้ผู้บริโภคต้องจ่าย “ค่า Service Charge”
“Service Charge” กับ “ทิป” ไม่เหมือนกัน
ในกรณีที่ร้านอาหารบริการดี แล้วผู้บริโภครู้สึกพอใจ ต้องการให้ทิป ถือเป็นเรื่องความพอใจส่วนบุคคล จ่ายก็ได้ไม่จ่ายก็ได้ ไม่เกี่ยวกับ Service Charge