ดีกว่าไหม? ถ้าอนาคตธุรกิจไทยไม่ต้องยุ่งเรื่องเอกสาร

ดีกว่าไหม? ถ้าร้านค้าทุกแห่งรับบัตร ยอดขาย รายงานและภาษีมูลค่าเพิ่มรายงานตรงและครบในระบบ

ดีกว่าไหม? ถ้าประชาชนไม่ต้องพกเงินสดใช้บัตรซื้อสินค้าได้

ดีกว่าไหม? ถ้าประชาชนโอนเงินหากันสะดวกและเสียค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม

ดีกว่าไหม? ถ้าประชาชนไม่ว่าอยู่ที่ไหนได้รับสวัสดิการที่ถูกต้อง

 

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) จัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร ซึ่งจะนำมาสู่

1. การเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development)

2. การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax System)

3. การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม (Social Welfare)

4. การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion)

5. การส่งเสริม e-Payment ในทุกภาคส่วน (Cashless Society) อันจะทำให้ธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดำเนินไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจและของประเทศไทย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความมั่นคงให้กับระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง

อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์นี้ยังจะช่วยสนับสนุนนโยบายอื่น ๆ ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น นโยบาย Digital Economy โครงการระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ นโยบายการส่งเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนในกรณีต่างๆ ของภาครัฐ เป็นต้น

 

 

national_epayment_01

 

 

ทั้งนี้ National e-Payment Master Plan ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่

 

national_epayment_project

 

1. โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม)

national_epayment_02

 

2. โครงการการขยายการใช้บัตร

national_epayment_03

 

3. โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

4. โครงการ e-Payment ภาครัฐ

national_epayment_04

 

5. โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

ซึ่งในการขับเคลื่อนโครงการทั้ง 5 จะดำเนินการผ่าน “คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment” โดยจะเร่งดำเนินการตามแผนและคาดว่าในส่วนแรกจะพร้อมใช้งานได้ในช่วงกลางปี 2559

 

 

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของ National e-Payment
ประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐบาล และประเทศในภาพรวมจะได้รับประโยชน์โดยรวมจากการดำเนินการตาม National e-Payment Master Plan ดังนี้

 

ประชาชน : จะช่วยยกระดับวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและบริการ e-Payment ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เงินสด จากการกระจายจุดรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และการทำให้การโอนเงินและการรับชำระเงินสามารถทำได้โดยง่าย โดยใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือจากการใช้เลขที่บัญชีธนาคารอย่างในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะมีช่องทางการขึ้นทะเบียนที่เข้าถึงได้ง่าย โดยดำเนินการผ่านสาขาของสถาบันการเงินซึ่งจะมีระบบการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง ประชาชนจะสามารถใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในการรับเงินช่วยเหลือ และนำไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าหรือนำไปใช้กับบริการต่าง ๆ ของภาครัฐตามที่รัฐบาลจะกำหนดต่อไป (เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบการรักษาพยาบาล เป็นต้น)

 

ภาคธุรกิจ : จะสามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จากการโอนเงินและการรับชำระเงินเพื่อการค้าและการบริการผ่านระบบ
e-Payment ที่ครบวงจร ด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถรับชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบขึ้นโดยระบบ e-Payment นี้ ท้ายที่สุดแล้วจะเข้ามาทดแทนวิธีการชำระเงินแบบเดิม ๆ ที่ใช้เงินสดหรือเช็ค ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนกระบวนการและเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

 

ภาครัฐบาล : จะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลทะเบียนที่ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน สามารถบริหารจัดการเงินช่วยเหลือได้ตรงตามวัตถุประสงค์ มั่นใจว่าจะถึงมือประชาชนอย่างถูกต้อง และลดโอกาสเกิดการทุจริต ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการเงินงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น

นอกจากนั้น การบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนของระบบ ผ่านการพัฒนาระบบ e-Tax Invoice ระบบนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม และระบบนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลภาษีที่ครบถ้วนมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการรายได้ที่ดีเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

ประเทศในภาพรวม : แผนยุทธศาสตร์นี้คาดว่าจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้ประมาณ 75,000 ล้านบาทต่อปี จาก ประชาชน ที่จะสามารถลดต้นทุนจากการพกพาเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน และมีความสะดวกมากขึ้นจากการเชื่อมโยงของระบบชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลาย จาก ภาคการธนาคาร ที่จะสามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร การบริหารจัดการเงินสดและเช็ค และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินสดที่เก็บไว้ในศูนย์จัดการเงินสด จาก ภาคธุรกิจ รวมถึงร้านค้าที่สามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 45,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค และการพิมพ์และจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี

 

 

นอกจากนั้น การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ยังมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย (Competitiveness) ซึ่งประเมินโดย World Economic Forum จากการนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และจากการปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานด้านสถาบันของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้งบประมาณลดปัญหาการคอรัปชั่น และลดภาระของภาคธุรกิจจากกฎระเบียบภาครัฐ

ด้านอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ในส่วนของการชำระภาษี

ด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ของ United Nations Development Programme โดยเฉพาะในมิติด้านความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จากการที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินสวัสดิการได้อย่างทั่วถึงและเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คุณรู้สึกอย่างไรกับ "National e-Payment คืออะไร ?"
Comment กันได้เลย ...
You can follow tung148, the author of this post, on Twitter and Facebook. If you'd like to contact him, Twitter is the most effective means of doing so.