เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปทำบุญ , ไหว้พระและขอพรตามแบบฉบับจีน “ตามรอยมังกร ขอพรแห่งอิทธิฤทธิ์” เรื่องราวความเชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ ระหว่าง วัดกับมังกร ที่กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเนิ่นนาน โดยหัวมังกรอยู่ที่ “วัดเล่งเน่งยี่” ท้องมังกรอยู่ที่ “วัดเล่งฮกยี่” และหางมังกรอยู่ที่ “วัดเล่งฮัวยี่” หากได้กราบไหว้นมัสการอธิฐานขอพรครบทั้งสามห่ง จะได้รับพลังจากมังกรเทพแห่งอิทธิฤทธิ์ เพิ่มสิริมงคลให้แก่ชีวิต ค้าขายเจริญรุ่งเรือง เสริมบารมี เสริมดวงชะตา
รู้หรือไม่ว่า..ประเทศไทยของเราก็เป็นดินแดนอุดมมังกรเหมือนกัน มังกรที่ว่านี้ไม่ใช่มังกรที่พ่นไฟฟู่ๆอย่างในหนังฝรั่งเขา หากแต่เป็น”มังกร”สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของคนจีน ซึ่งชาวจีนจึงเชื่อกันว่า “มังกร” คือสัตว์ที่ทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์แห่งฟ้าและดิน มังกรเป็นตัวแทนของพลังที่ยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ พลังอำนาจสูงสุดของโลก
บางครั้งเราอาจพบมังกรจีนในรูปสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งการปกป้องและคุ้มครอง นำมาซึ่งอายุยืนยาว ความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภวาสนา มังกรจีนได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ ความดีงาม และอำนาจบารมี จนถือได้ว่า มังกร เป็นสัญลักษณ์แทนความโชคดีสูงสุดก็ว่าได้
วัดเล่งเน่ยยี่ เชื่อกันว่าเป็นวัดส่วนหัวของมังกร
ดังนั้นทริปนี้ การเดินทาง”ตามรอยมังกร” จึงต้องไปถึง 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-จันทบุรี โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒินำเที่ยวชม ซึ่งการตามรอยมังกรครั้งนี้เราจะตามกันให้ครบทั้งตัวตั้งแต่หัวมังกร ท้องมังกร ไปจนถึงหางมังกรเลยทีเดียว
ที่แรกต้นทางอยู่ที่กรุงเทพฯ ในย่านเยาวราชที่เชื่อกันว่าเป็นถนนสายมังกรและเป็นที่ตั้งของวัดมังกรกมลาวาส หรือ”วัดเล่งเน่ยยี่” ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้เลือกชัยภูมิที่ตั้งวัดโดยให้เจ้ากรมท่าซ้ายร่วมกับพุทะสาสนิกชนชาวจีนก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2414 ใช้เวลาก่อสร้างถึง 8 ปีจึงแล้วเสร็จและให้ชื่อว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” อันมีความหมายคือ เล่ง แปลว่ามังกร เน่ย แปลว่าดอกบัว ยี่แปลว่าวัด ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ 5 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมังกรกมลาวาส”
สถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ก็โดดเด่นด้วยการวางผังแบบวังหลวงแต้จิ๋วโบราณ คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ โดยก่อนจะเข้าสู่วิหารท้าวจตุโลกบาลหน้าประตูทางเข้าทั้งสองด้านมีป้ายคำโคลงคู่มีความหมายว่า ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา และ มังกรเหินสู่สวรรค์ ณ ถิ่นนี้ ที่วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเปรียบดั่ง “ส่วนหัวของมังกร”
เมื่อเข้าไปภายในวิหารท้าวจตุโลกบาล พวกเราได้พบกับเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ เป็นรูปหล่อปูนเขียนสีแต่งกายในชุดนักรบจีนถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์
ส่วนหลังคาวิหารท้าวจตุโลกบาล แสดงโครงสร้างคานขื่อตามแบบแต้จิ๋วอย่างสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบด้วยลวดลายสิริมงคลตามความเชื่อจีน มีการวาดลวดลายและแกะสลักลวดลาย ปิดทองอย่างสวยงาม มีการใช้โมเสกติดผนังทั้งหมด จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประธาน 3 องค์ด้วยกัน คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าในปัจจุบันกาล (เจ้าชายสิทธัตถะ), พระอมิตาภพุทธเจ้า เชื่อว่าเป็นอดีตพระพุทธเจ้าอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรที่เรียกว่าแดนสุขาวดี, พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีตเช่นกัน เชื่อกันว่าท่านอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรทางฝั่งทิศตะวันออก ตรงข้ามกับแดนสุขาวดี โดยพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ เปรียบเหมือนไตรรัตน์ของฝ่ายมหายาน ด้านหลังอุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์และเทพเจ้าต่างๆของจีน
เมื่อได้ฟังประวัติความสำคัญของวัดเล่งเน่ยยี่แล้ว พวกเราก็จัดแจงจุดธูปของพรเพิ่มความเป็นสิริมงคลกันยกใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของการค้าขาย เขาเชื่อกันว่าจะช่วยให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง
หลังจากที่พวกเราได้เจอะเจอกับหัวมังกรแล้ว ก็เดินทางไปตามรอยมังกรกันต่อที่ส่วนท้องของมังกร ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ที่วัดจีนประชาสโมสร หรือ “วัดเล่งฮกยี่” จังหวัดฉะเชิงเทรา นั่นเองโดยวัดนี้ถือเป็นวัดจีนเพียงแห่งเดียวในฉะเชิงเทรา สำหรับแบบแปลนของวัดนี้จะเป็นแบบเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ และได้ถูกวางตำแหน่งฮวงจุ้ยเป็น “ส่วนท้องของมังกร”
วัดเล่งฮกยี่ สร้างขึ้นราว พ.ศ.2449 ซึ่งคำว่า ฮก แปลว่าโชคลาภ วาสนา จึงมักมีคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา ต่อมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อทรงเปิดทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา ก็ได้พระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ และทรงมีจิตศรัทธาพระราชทานเงินเพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “วัดจีนประชาสโมสร”อันมีความหมายถึงว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนจีน
ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่พระประธาน คือ พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ เหมือนที่วัดส่วนหัวมังกร แต่พิเศษตรงที่พระประธานทั้ง 3 พระองค์นี้นำเข้ามาจากเมืองจีนและสร้างขึ้นจากกระดาษทั้งสิ้น หรือที่เรียกว่า “เปเปอร์มาเช่” แล้วปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อ 18 อรหันต์ ก็ยังทำด้วยกระดาษเช่นกัน และยังเก่าแก่ราว 200 ปีอีกด้วย
ภายในวัดยังมีรูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่เซ่งเอี้ย องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่มากราบไหว้ที่วัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ยังนิยมขอโชคลาภ โดยท่องบทสวดของท่าน 3 ครั้ง จากนั้นนำกระเป๋าเงินของเราไปไว้ที่ปากถุงเงินของท่าน ตบก้นถุงของท่าน 3 ครั้งหลังจากนั้นลูบจากก้นถุงขึ้นมายังปากถุง 3 ครั้ง เหมือนเป็นการนำโชคลาภใส่ลงกระเป๋าของเราเอง พร้อมทั้งหยิบเหรียญขวัญถุงมา 1 เหรียญ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการขอโชคลาภ
แต่ก่อนจะออกเดินทางตามรอยมังกรกันต่อ ก็ต้องตีระฆังใบยักษ์หล่อจากแต่จิ๋วหนักกว่า 1 ตัน 3 ครั้งก่อน ซึ่งรอบระฆังใบนี้มีอักษรมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ถือกันว่าผู้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์บทนี้ ซึ่งจะได้บุญได้กุศลเป็นอย่างมาก
และด้วยความเชื่อที่ว่าวัดแห่งนี้เป็นดั่งส่วนท้องของมังกร ทำให้ผู้ที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับพลังส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร เจริญรุ่งเรืองมาสู่ตัวเราด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกเราจะต้องตั้งหน้าตั้งตากราบไหว้ขอพรกันอย่างแน่วแน่
เจริญในบุญกันแล้วก็เดินทางไปค้นหาส่วนสุดท้ายซึ่งก็คือ “ส่วนหางของมังกร” กันที่จังหวัดจันทบุรี พวกเรามุ่งหน้าสู่”วัดเล่งฮัวยี่” โดย ฮัว แปลว่าดอกไม้ วัดแห่งนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดมังกรบุปผาราม” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2520 เมื่อก้าวย่างเข้าไปภายในจะเจอะเจอกับวิหารท้าวจตุโลกบาลเช่นเดียวกับวัดส่วนหัวและส่วนท้องมังกร
เมื่อผ่านวิหารท้าวจตุโลกบาลเข้ามา พวกเราเห็นอุโบสถสถาปัตยกรรมจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นรูปเจดีย์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์สีทองอร่ามเช่นกับวัดทั้ง 2 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปะ และพระอานนท์
ด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต อันหมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา หมายถึงบารมีหกที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ
โดยรูปเคารพทั้งหลายปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีนบนฐานชุกชี ภายในมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองแบบศิลปะจีนอย่างสวยงาม ด้านบนยังมีรูปเคารพเทพเจ้าอีกหลายองค์ให้เคารพบูชาอีกด้วย พวกเราใช้เวลากราบไหว้ขอพรอยู่นาน ก่อนที่จะลาจากวัดส่วนหางของมังกรแห่งนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า วัดทั้งสามตำแหน่งของมังกรตัวยักษ์นี้ ได้พาดผ่านในดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ทั้งเยาวราช ที่เป็นดินแดนแห่งการค้าขายอุดมด้วยเงินทองมากมาย เมืองแปดริ้วดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหาร และจังหวัดจันทบุรี เมืองพลอยที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เราได้จากการตามรอยมังกรก็คือ ความเพลิดเพลินและสุขใจ ซึ่งจะว่าไป”ความสุข”นี่แหละคือบุญอันสุดแสนประเสริฐของมนุษย์แล้ว
เส้นทาง”ตามรอยมังกร“เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง “ตามรอยมังกร ขอพรพระเจ้าตาก” ในโครงการ “เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
“วัดมังกรกมลาวาส” หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่” ตั้งอยู่ที่ ถ.เจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.
“วัดจีนประชาสโมสร” หรือ “วัดเล่งฮกยี่” ตั้งอยู่ที่ถ.ศุภกิจ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
“วัดมังกรบุปผาราม” หรือ “วัดเล่งฮัวยี่” ตั้งอยู่ที่ ถ.สุขุมวิท ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี