การที่เราซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และถูกส่งมายังประเทศไทยโดยไปรษณีย์ บางครั้งถ้าโชคดีอาจไม่ต้องเสียภาษี แต่บางครั้งต้องเสียภาษีโดยผ่านพิธีการศุลกากร เค้าจะมีใบแจ้งสีเขียวๆ ให้เราไปรับสินค้า

ซึ่งใบเขียวๆนี้ เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ” หรือ Notification to Collect International Postal Items นั่นเอง

 

หน้าตาของ ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ

หากเราต้องการไปรับเอง ก็แค่นำแบบแจ้งนี้พร้อมบัตรประชาชนตัวจริงเราไปรับของได้เลย ต้องดูที่ใบแจ้ง ว่าของอยู่ไหน อาจจะที่รองเมือง หรือหลักสี่ หรือที่ทำการที่ใบแจ้งเอาไว้ (กรณี สินค้ามูลค่าไม่เกิน 40,000 บาท ไม่ต้องทำใบขนสินค้า)

 

วันนี้ที่มาพูดถึงเรื่องภาษี ของที่ส่งสิ่งของมาจากต่างประเทศก็ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะเคยสั่งของจากต่างประเทศก็หลายครั้ง แต่เพิ่งโดนเรียกเก็บภาษีเป็นครั้งแรก ซึ่งครั้งนี้สั่งซื้อรองเท้าจากประเทศอังกฤษ โดยผู้ส่งได้ declare สินค้าเป็นของขวัญ Gift และใส่ราคามา £19.99 (19.99 ปอนด์) ถ้าคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็ประมาณ 978.18 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งตามหลักเกณฑ์พิธีการศุลกากร จะยกเว้นอากร คือ ของที่มีหลักเกณฑ์ 2 กรณี คือ มีราคาไม่เกิน 1,000.- บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) หรือ เป็นตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า ถึงแม้ว่าการซื้อสินค้าครั้งนี้จะมีราคาทางการค้าแต่ราคาสิ่งของที่ทางผู้ส่งได้แจ้งไว้มูลค่าไม่ถึง 1,000 บาท แต่กลับต้องเสียภาษี

ผู้ส่งจากอังกฤษแจ้งราคาในใบ Custom Declaration หรือ ใบ CN22 ไว้เพียง £19.99 เท่านั้น

ทางศุลกากรกลับประเมินราคารองเท้าคู่นี้ถึง 1,500 บาท ซึ่งจะไม่ได้รับการยกเว้นอากร โดยผมโดนเรียกเก็บภาษีดังนี้

รองเท้าราคาประเมิน 1,500 บาท
อากรขาเข้า 30% 450 บาท
Vat อีก 7% 137 บาท

รวมภาษีทั้งหมด 587 บาท

ศุลกากรประเมินราคารองเท้าคู่ 1,500 บาท พร้อมภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด 587 บาท
(ยังไม่รวมค่าปฏิบัติการไปรษณีย์อีก 20 บาท)

สุดท้ายต้องบอกว่าทำใจ เพราะถ้าจะโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากรใหม่ เจ้าหน้าที่ที่ไปรษณีย์บอกว่า ต้องเสียเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ทำคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อร้องขออุทธรณ์การประเมินราคา/ภาษีอากรใหม่ ซึ่งไม่คุ้มกับต้องเสียทั้งเวลายื่นคำร้องและต้องรอกว่าจะได้ของ

ทีนี้เรามาทำความเข้าใจ พิธีการศุลกากรนำเข้าทางไปรษณีย์ กันอย่างละเอียดกัน การคัดแยกสิ่งของส่งทางไปรษณีย์เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากร สิ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางไปรษณีย์ จะถูกเปิดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรร่วมกับเจ้าหน้าที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อตรวจคัดแยกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ก่อนส่งมอบให้กับผู้มีชื่อรับรอง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1: ของยกเว้นอากร คือ ของที่มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ของแต่ละหีบห่อมีราคาไม่เกิน 1,000.- บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) หรือ
2. ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า

ของที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้นำของไปส่งมอบให้แก่ผู้ที่มีชื่อรับของ ตามที่อยู่ผู้ฝากส่ง ระบุไว้ที่หน้าหีบห่อ

ประเภทที่ 2: ของต้องชำระอากร คือ ของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกัน หรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะกี่หีบห่อ หากมีราคา FOB (Free On Board) รวมกันไม่เกิน 40,000.- บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) และไม่เป็นของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือไม่เป็นของต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย
เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและค่าอากร แล้วส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำส่งไปที่ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทาง เพื่อส่งมอบของให้แก่ผู้มีชื่อรับของและเรียกเก็บอากรแทนกรมศุลกากร โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะออก “ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ” (Notification to Collect International Postal Items) และส่งไปให้ผู้มีชื่อรับของเพื่อแจ้งให้ไปรับของและชำระอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ โดยที่ทำการไปรษณีย์จะเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินแทนกรมศุลกากร

กรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบว่าของรายใดมีปัญหาในการประเมินราคา หรือผู้มีชื่อรับของต้องการใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะคัดแยกของดังกล่าวเป็นของประเภทที่ 3

การโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากร (ของประเภทที่ 2)

กรณี ที่ผู้รับของไปติดต่อขอรับสิ่งของที่ที่ทำการไปรษณีย์ และมีค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระสำหรับสิ่งของนั้น ๆ หากผู้รับของประสงค์ที่จะโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากร ให้ทำคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจัดทำคำร้องขออุทธรณ์การประเมินราคา/ภาษีอากร สามารถพิมพ์แบบคำร้องได้ที่รูปด้านล่าง

คำร้องขออุทธรณ์การประเมินราคา/ภาษีอากร(https://www.tung148.com/wp-content/uploads/2012/01/request_form.gif)

พร้อมแนบ “ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ” และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี เช่น บัญชีราคาสินค้า (Invoice) เป็นต้น ส่งถึงส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร โดยตรง หรือส่งผ่านที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปติดต่อรับของ แต่ทั้งนี้ ผู้รับของจะต้องยังไม่ชำระค่าภาษีอากร โดยเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์แล้ว ที่ทำการไปรษณีย์จะจัดส่งสิ่งของที่ได้อุทธรณ์นั้นไปยังส่วนบริการศุลกากร ไปรษณีย์และอากาศยาน เพื่อพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ค่าภาษีอากรนั้นต่อไป และให้ผู้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ไปติดต่อขอรับของพร้อมชำระค่าภาษีอากรได้ที่ฝ่าย ตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน ถนนรองเมือง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ประเภทที่ 3: ของอื่น ๆ นอกจากประเภทที่ 1 และ 2
เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อส่งไปเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้า โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะออก “ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ” (Notification to Collect International Postal Items) แล้วส่งไปให้ผู้มีชื่อรับของ เพื่อแจ้งให้ไปปฏิบัติพิธีการศุลกากรและขอรับของ ที่ฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน หรือ ด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของประเภทที่ 3 สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ

1. กรณีของราคาไม่เกิน 40,000.- บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) ผู้รับของไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและจัดเก็บค่าภาษีอากร ณ จุดเดียวกัน โดยมีขั้นตอนการขอรับสิ่งของทางไปรษณีย์ ดังนี้
– กรอกเอกสารด้านหลังใบแจ้งฯ (ตามตัวอย่างที่จัดแสดงไว้) ยื่นเอกสารที่โต๊ะเบอร์ 1 รับหมายเลขบัตรคิว แล้วนั่งรอเรียกรับของ
– เปิดของร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรตามช่องที่ได้รับเรียกเพื่อประเมินราคาค่า ภาษีอากร ชำระค่าภาษีอากรแล้วรับใบปล่อยของจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร
– ยื่นใบปล่อยของที่จุดตรวจสอบหน้าประตูทางเข้าก่อนออกจากด่านศุลกากร
– ขั้นตอนในการดำเนินการขอรับของดังกล่าวใช้ระยะเวลา 36 นาที

2. กรณีของมีราคาเกินกว่า 40,000.- บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) ผู้รับของจะต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า และส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์กรมศุลกากร (ฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์ ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า และมี Counter Service ให้บริการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์) โดยมีขั้นตอน ดังนี้
– ลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือดำเนินการในกระบวนการศุลกากร ที่ฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์ (กรณีที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน)
– ผู้รับของส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (สามารถใช้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ที่ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และ อากาศยาน)
– ผู้รับของชำระภาษีอากร
– ผู้รับของติดต่อคลังสินค้าเพื่อนำของมาตรวจปล่อย
– เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจของตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และบันทึกผลการตรวจปล่อยในระบบคอมพิวเตอร์ ใช้ระยะเวลา 30 นาที (ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยหรือตรวจพบความผิดซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ เวลาตรวจสอบโดยละเอียด)
– ผู้รับของนำของไปจากอารักขาของศุลกากร
2.2 พิธีการส่งออกสินค้าทางไปรษณีย์ สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ
2.2.1 กรณีฝากส่งสิ่งของทางไปรษณีย์ไปต่างประเทศ ให้กระทำได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งตามระเบียบข้อบังคับของ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายในบังคับของเงื่อนไขดังต่อไปนี้
– ไม่เป็นของต้องห้ามในการส่งออก
– ไม่เป็นของต้องกำกัดในการส่งออก
– ไม่เป็นของต้องเสียอากร หรือค่าภาคหลวงในการส่งออก
– การส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งไปถึงผู้รับคนหนึ่ง ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่ห่อ มีราคารวมกันคราวหนึ่งไม่เกิน 10,000.- บาท สำหรับของทั่วไป หรือไม่เกิน 50,000.- บาท สำหรับเพชรพลอย เครื่องรูปพรรณทองคำ และเครื่องรูปพรรณทองคำขาว
– มิใช่การส่งออกที่ขอคืนอากร หรือขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร
– มิใช่การส่งออกที่ขอใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา
2.2.2. กรณีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ผู้ส่งออกต้องจัดทำใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
– ลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือดำเนินการในกระบวนการศุลกากร ที่ ฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์ (กรณีที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน)
– ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์ (สามารถใช้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ที่ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และ อากาศยาน)
– ผู้ส่งออกชำระภาษีอากร (ถ้ามี)
– ผู้ส่งออกจัดทำใบกำกับการขนย้าย (สามารถใช้บริการได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส
– ผู้ส่งออกนำของให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกรณีเป็นใบขนสินค้าติดเงื่อนไขให้เปิดตรวจ
(Red Line) ใช้ระยะเวลา 30 นาที (ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยหรือตรวจพบความผิดซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ เวลาตรวจสอบโดยละเอียด)
– ผู้ส่งออกนำของส่งออกไปฝากส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์
– ผู้ส่งออกนำหลักฐานการส่งออก แจ้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรรับบรรทุก

3. อัตราค่าธรรมเนียม
3.1 การผ่านพิธีการศุลกากร และตรวจปล่อยสินค้าสำหรับใบขนสินค้าขาเข้า/ขาออก ฉบับละ 200 บาท
3.2 การบันทึกข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า/ขาออก ฉบับละ 70 บาท

4. แบบฟอร์มที่ใช้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรและขอรับของ
– คำร้องขออุทธรณ์การประเมินค่าภาษีอากร (กรณีโต้แย้งการประเมินราคา/ภาษีอากร)

5. หน่วยงานอื่นที่ร่วมให้บริการ ณ ที่ทำการส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน
5.1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โทร. 0 2215 4511
5.2 ด่านตรวจพืชไปรษณีย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร. 0 2214 3712

6. สถานที่ติดต่อและแผนที่ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน
ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร
127 ถนนรองเมือง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10000
โทรศัพท์ 0-2215-0966 ถึง 8 ต่อ 12 โทรสาร 0-2214-2395
เวลาทำการ วัน – เวลาราชการ: จันทร์ – ศุกร์ 08.30 – 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุด นักขัตฤกษ์)
กรณีมีปัญหาในการขอรับสิ่งของ โปรดติดต่อผู้บริหาร
1. ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน โทรศัพท์ 0-2215-3717 โทรสาร 0-2214-2395
2. หัวหน้าฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์โทรศัพท์ 0-2215-0966 ถึง 8 ต่อ 24 โทรสาร 0-2216-8824
3. หัวหน้าฝ่ายตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ โทรศัพท์ 0-2215-0966 ถึง 8 ต่อ 20 โทรสาร 0-2216-8823

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คุณรู้สึกอย่างไรกับ "สั่งของมาจากต่างประเทศแล้วเสียภาษี"
Comment กันได้เลย ...
You can follow tung148, the author of this post, on Twitter and Facebook. If you'd like to contact him, Twitter is the most effective means of doing so.