นิตยสารนิวส์วีค (Newsweek) ได้จัดทำผลการสำรวจ “ประเทศที่ดีที่สุดในโลก”
(The World′s Best Countries) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต มาเป็นแนวทางในการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจอื่น ซึ่งพิจารณาแต่เพียงเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่มีการนำมาพิจารณาประกอบคือ การศึกษา สุขภาพ คุณภาพชีวิต การแข่งขันทางเศรษฐกิจ และบรรยากาศทางการเมือง และนำคะแนนจากผลการพิจารณาในแต่ละหมวดดังกล่าวมาประมวลเข้าด้วยกัน เพื่อทำการจัดลำดับคะแนน ประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 100 ประเทศ โดยมีคะแนนเต็มทั้งหมด 100 คะแนน
ผลการสำรวจดังกล่าวพบว่า ประเทศที่มีขนาดเล็ก หรือประเทศเกิดใหม่ มีระดับคะแนนในหลายๆด้านดีกว่า หรือเท่าเทียมกับประเทศมหาอำนาจ หรือประเทศที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศใหญ่ๆอย่าง จีน บราซิล หรือตุรกี มีคะแนนในบางด้านสูสีกับประเทศเล็กๆ อย่างสโลเวเนีย หรือ เอสโตเนีย เนื่องจากประเทศที่มีขนาดเล็กไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงผลักดันและความพยายามมากนัก เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศของตนให้มีระดับการพัฒนาในด้านต่างๆให้ดีขึ้น
แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ประเทศที่มีขนาดเล็ก และร่ำรวยอย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์, สวีเดน, ฟินแลนด์ และเดนมาร์ค) จะสามารถอยู่ใน 10 อันดับแรกได้ทั้งหมด โดยฟินแลนด์ อยู่ในอันดับ 1 สวีเดน อันดับ 3 นอร์เวย์ อันดับ 6 และเดนมาร์ค อันดับ 10
นอกจากนั้นประเทศที่มีการพัฒนาระบบการศึกษาที่ดี และครอบคลุมในวงกว้าง ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ไม่ยากนัก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมสหรัฐอเมริกา ประเทศยุโรปตะวันตก และประเทศในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จึงได้คะแนนรวมที่ค่อนข้างดี (85.99 และ 83.28 ตามลำดับ) โดยเกาหลีใต้อยู่ในอันดับ 2 ของประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุด เป็นรองเพียงประเทศฟินแลนด์เท่านั้น
ส่วนประเทศไทย แม้ว่าจะมีอัตราการรู้หนังสือที่สูงถึง 92.7 แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว มีคะแนนด้านการศึกษาเพียง 79.28 หรืออยู่ในอันดับที่ 57 ด้านสุขภาพอนามัย (อันดับที่ 66) ด้านคุณภาพชีวิต (อันดับที่ 55) ด้านแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (อันดับที่ 39) ซึ่งเป็นรองสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับ 1 และ 14 ตามลำดับ ส่วนด้านสภาพแวดล้อมทางการเมืองนั้น อยู่ในอันดับที่ 74 อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง โดยมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพียง 5.56 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 และระดับความมั่นคงทางการเมืองเพียง 56.5 คะแนน จาก 100 คะแนน และเมื่อพิจารณาจากคะแนนโดยรวมแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 58 หรือ 62.17 คะแนน
1. Finland – ฟินแลนด์
2. Switzerland – สวิสเซอร์แลนด์
3. Sweden – สวีเดน
4. Australia – ออสเตรเลีย
5. Luxembourg – ลักเซมเบิร์ก
6. Norway – นอร์เวย์
7. Canada – แคนนาดา
8. Netherlands – ฮอลแลนด์
9. Japan – ญี่ปุ่น
10. Denmark – เดนมาร์ค
ที่มา: http://tungblog.atikomtrirat.com/2010/08/newsweek-top-100-58.html